Toyota Corona อาจจะเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูเด็กสมัยนี้ แต่ถ้าไปถามคนที่มีอายุ 30 ขึ้นไป ชื่อนี้น่าจะต้องคุ้นหูคนหลาย ๆ คนอย่างแน่นอน เพราะในยุคปี 1970-1990 Toyota Corona เป็นหนึ่งในรถยนต์ซีดานสำหรับครอบครัวที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าเห็นวิ่งกันทั่งบ้านทั่วเมืองเลยทีเดียว ทั้งในรูปแบบของรถส่วนตัว และรถแท๊กซี่
Toyota Corona เป็นรถที่ Toyota ผลิตขึ้นเพื่อเป็นรถสำหรับครอบครัว 5 ที่นั่ง เปิดตัวครั้งแรกในปี 1957 ในเจเนอเรชั่นที่ 1-6 ถือเป็นรถยนต์ซีดานขนาดเล็ก และปรับขนาดขึ้นมาเป็นรถยนต์ขนาดกลางในเจเนอเรชั่นที่ 7-10 และมีการออกรุ่น Coupe 2 ประตู หรือ Hatchback 5 ประตู เข้ามาเสริมทัพในบางเจเนอเรชั่น ในประเทศไทยมีการนำเข้ามาขายตั้งแต่เจเนอเรชั่นที่ 2 จนถึง เจเนอเรชั่นที่ 10 จนกระทั่งในปี 1999 Toyota Corona คันสุดท้ายก็ออกจากโชว์รูม Toyota ในประเทศไทย และถูกแทนที่ด้วย Toyota Camry มาจนถึงปัจจุบัน
คำว่า Corona มีความหมายว่ามงกุฎ ซึ่งเป็นหลักการตั้งชื่อของรถ Toyota อยู่แล้ว ซึ่งมักจะใช้ชื่อภาษาอังกฤษที่มีความหมายว่ามงกุฎ
สรุปราคามือสอง
สำหรับในตลาดมือสองนั้น Toyota Corona มีขายอยู่ไม่มากนัก เนื่องจากตัวรถค่อนข้างเก่ามากแล้ว โดยใน kaidee.com จะมีเพียงเจเนอเรชั่นที่ 9 (รุ่นปี 1986) และ 10 (รุ่นปี 1993) เท่านั้น เหมาะมากสำหรับคนที่ชอบรถเก่า และสามารถยอมรับในเรื่องของการซ่อมบำรุงที่อาจจะต้องตามมา ในการเปลี่ยนชิ้นส่วนต่าง ๆ นอกจากนี้หลายคันยังมีการนำไปติดแก๊ซมาแล้ว ดังนั้นต้องเชคสภาพการติดตั้งด้วยว่าสมบูรณ์หรือไม่ หมายเหตุ - *ราคาเริ่มต้น อ้างอิงจาก Kaidee Auto รายละเอียดอาจมีการเปลี่ยนแปลงรุ่นปี 1986
สำหรับ Toyota Corona ในยุคนี้ได้รับการออกแบบมาในสไตล์รถยุค 80s ปลาย ๆ ตัวรถจะมีความโค้งมน ไม่ค่อยเป็นเหลี่ยมมุม ถึงขนาดสโลแกนในตอนนั้นยังใช้ประโยคที่ว่า “ความงามที่ไร้เหลี่ยม แต่เปี่ยมไปด้วยพลัง” มีความเป็น Boxy Design หรือเป็นรถทรงกล่อง ที่มีความสมดุลย์ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และเพื่อเป็นการลดอัตราการภาษีสรรพสามิตในประเทศญี่ปุ่น ตัวถังรถจึงมีขนาดไม่เกิน 1700 มม. ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้ Toyota ตัดสินใจออก Toyota Camry ขึ้นมา เพื่อเป็นรถซีดานที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แล้วให้ Toyota Corona ทำตลาดในกลุ่มรถซีดานขนาดกลางแทน
ในประเทศไทยนั้น Toyota รุ่นนี้มีฉายาว่า “หน้ายักษ์” มีเอกลักษณ์โดดเด่นด้วยกระจังหน้าหรูหรา เป็นเส้นโครเมี่ยมแนวนอน ไฟท้ายหลังแยกเป็นสองด้านซ้ายขวา จนกระทั่งมีรุ่น Minor Change ออกมาซึ่งบ้านเราจะเรียกว่า “หน้ายิ้ม” โดยกระจังหน้าจากเส้นโครเมี่ยมแนวนอน กลายมาเป็นเส้นโครเมี่ยมแนวตั้ง และไฟท้ายก็กลายมาเป็นไฟท้ายยาวแถวเดียว คาดตามแนวนอนขวางทั้งด้านหลังของรถ
ตอนเปิดตัวนั้นมีวางจำหน่าย 4 รุ่นย่อย 2 เครื่องยนต์คือ เครื่องยนต์ 1600 CC คาร์บูเรเตอร์ และเครื่อง 2000 CC ที่มีทั้งเครื่องคาบูเรเตอร์ และเครื่องหัวฉีดให้เลือก โดยตัวท้อปนั้นจะเป็นรุ่นหัวฉีด ซึ่งในตอนนั้น เครื่องยนต์หัวฉีดเป็นเรื่องใหม่มากในรถ Segment นี้ เพราะจะมีมาให้ในรถยนต์ระดับหรูหราอย่าง Mercedes Benz หรือ BMW เท่านั้น
ส่วนอุปกรณ์ที่ติดมากับรถนั้นก็ขึ้นอยู่กับรุ่นย่อย ถ้ารุ่นแบบ Entry Level จะมาพร้อมกับเบาะพลาสติก ที่เปิดกระจกแบบหมุนเอง และจะเริ่มได้รับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นตามรุ่นย่อยที่แพงขึ้นอย่างเบาะผ้ากำมะหยี่ กระจกข้างไฟฟ้า พวงมาลัยพาวเวอร์ จนมาถึงรุ่นท้อปที่มีวิทยุแบบดิจิตอล และ Disc Brake 4 ล้อ โดยมีระบบส่งกำลังทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะให้เลือก
Toyota Corona ในรุ่นนี้ปัจจุบันหายากมากแล้ว ในสมัยก่อนอาจจะมีวิ่งเป็นแท๊กซี่อยู่บ้าง ซึ่งบางคันก็มีเลขไมล์แตะ 1 ล้านกิโลเมตรเลยทีเดียว ซึ่งนี่คงจะเป็นหลักฐานยืนยันได้อย่างดี ถึงความอึด แกร่งและทนทานของรถรุ่นนี้
รุ่นปี 1993
ในเจเนอเรชั่นที่ 10 เป็น Toyota Corona ที่ทาง Toyota ตัดสินใจวางตำแหน่งให้อยู่ตรงกลางระหว่างรถ C-Segment (ทำตลาดโดย Toyota Corolla) และ D-Segment (ทำตลาดโดย Toyota Camry) เปิดตัวในปี 1993 และทำการขายจนถึงปี 1999 ก่อนจะถูกแทนที่ด้วย Toyota Camry
สำหรับในเจเนอเรชั่นนี้เปิดตัวในประเทศไทยในปี 1993 โดยมีฉายาว่า “ท้ายโด่งไฟแถบ” เพราะรถได้รับการออกแบบมห้มีความลาดลงไปด้านหน้า ทำให้ด้านหลังสูงกว่าด้านหน้า ตัวรถมีความกลมป้อมมากขึ้น และยังคงความโค้งมนของตัวถังไว้ตามการออกแบบของรถในยุค 90s
ตอนเปิดตัว Toyota Corona รุ่นนี้มีสองเครื่องยนต์ให้เลือกคือเครื่องยนต์ 1600 CC และ 2000 CC พร้อมสามรุ่นย่อย โดยรุ่น 2000 CC คือรุ่นท้อปที่มาพร้อมกับไฟตัดหมอก ไฟหน้าเปิดปิดอัตโนมัติ กระจกข้างปรับไฟฟ้า เป็นต้น มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ และที่สำคัญคือเครื่องยนต์เป็นแบบหัวฉีดทั้งหมด ส่วนเบาะที่นั่งมีการใช้หนังเทียมเข้ามาเพื่อเพิ่มความหรูหรา
ต่อมามีการ Minor Change โดยมีการเปลี่ยนโฉมภายนอก จนได้รับฉายาว่า “ท้ายโด่งไฟแยก” และในปี 1996 มีการทำ Big Minor Change และเปลี่ยนชื่อเป็น Corona Exsior ภายนอกยังคงความโค้งมน แต่มีเส้นสายที่โฉบเฉี่ยวมากขึ้น มีจุดเด่นด้านความปลอดภัยโดยมีระบบเบรค ABS และถุงลมนิรภัยของคนขับมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในทุกรุ่นย่อย ซึ่งถือเป็นรถยนต์ระดับล่างรุ่นแรก ๆ ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์นี้มาให้ ในตอนนั้นโฆษณาของ Corona Exsior คือนำลูกตุ้มขนาดใหญ่มาฟาดใส่รถ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการทำงานของถุงลมนิรภัย
ต่อมามีการเพิ่มอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในรถทั้งไฟฮาโลเจน พวงมาลัยสามก้าน รวมไปถึงลายไม้ และมีการขายไปพร้อม ๆ กับ Toyota Camry
สำหรับเจเนอเรชั่นที่ 10 ยังคงสามารถหาได้ในตลาดมือสองอยู่ และมีหลากหลายสภาพด้วยกัน และแน่นอนว่าความถึก ทน ของ Toyota ก็ยังมีอยู่ในรถรุ่นนี้อย่างเต็มรูปแบบ
Toyota Corona เปรียบเทียบสเปคเครื่องยนต์ทุกเจเนอเรชัน
บทสรุป Toyota Corona
Toyota Corona เป็นรถที่เคยสร้างตำนานให้กับ Toyota มาแล้ว ด้วยการเป็นรถครอบครัวขนาดกลางที่ขายดีติดต่อกันมาเป็นเวลานาน และกวาดรางวัลต่าง ๆ มาแล้วมากมายทั่วโลก
ในตลาดมือสองขณะนี้ มีเพียงเจเนอเรชั่นที่ 9 และ 10 เท่านั้นที่ยังพอหาได้ ส่วนเจเนอเรชั่นก่อนหน้าอาจจะมีสภาพเป็นซากรถที่ต้องการการบูรณะครั้งใหญ่ และเหมาะกับคนที่ชอบสะสมรถเท่านั้น
สำหรับคนที่ต้องการซื้อ Toyota Corona ต้องระวังว่าอาจจะต้องจ่ายเงินค่าซ่อมบำรุงรักษาเพิ่มเติมเนื่องจากตัวรถมีอายุค่อนข้างมากแล้ว อีกทั้งต้องศึกษาเรื่องน้ำมันที่รองรับดีดี เพราะบางคันไม่สามารถรองรับน้ำมันแก๊ซโซฮอล์ได้ แต่ถ้าคุณอยากได้รถราคาถูก ทน ถึก นั่งสบาย ไม่ได้กังวลเรื่องการซ่อมบำรุงเพิ่มเติมมากนัก Toyota Corona ก็เป็นรถอีกคันที่คุณควรลองเปิดใจมอง